“ทำไมผู้หญิงมุสลิมต้องคลุมฮิญาบ” คำถามสุดคลาสสิกที่ผู้หญิงมุสลิมล้วนต่างต้องเคยพบเจอ ขณะเดียวกันก็เป็นคำถามที่คนที่ไม่ใช่มุสลิมส่วนใหญ่ต่างก็อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผ้าผืนนี้ ว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้หญิงมุสลิมต้องคลุมฮิญาบ
ถึงแม้อิสลามจะถือกำเนิดในอาหรับแต่หลักศรัทธาปฏิบัติและหลักปฏิบัติของอิสลามนั้นเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมที่อยู่ในดินแดนไหน มีประเพณีและวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองอย่างไร ก็ล้วนสามารถปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามได้อย่างไม่ลำบาก และสามารถปรับให้เข้ากับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของตนเองได้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่นหลักว่าด้วยการกินอาหาร ที่อิสลามไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นเมนูอะไร เพียงแต่กำหนดเป็นหลักพื้นฐานเท่านั้นว่าวัตถุดิบอะไรบ้างที่สามารถกินได้ และวัตถุดิบเหล่านั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง (ต้องเชือด, ต้องล้าง ฯลฯ) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอาหารอาหรับ อาหารฝรั่ง หรืออาหารจีน ก็สามารถเป็นอาหารฮาลาลได้ทั้งนั้น หากวัตถุดิบและกระบวนการนั้นถูกต้องตามหลักการอิสลาม
เช่นเดียวกับการแต่งกาย อิสลามก็ไม่ได้มีข้อกำหนดว่ามุสลิมต้องใส่ชุดประเภทไหนบ้าง เราจึงได้เห็นผู้ชายอาหรับใส่โต๊ป(ชุดยาว)สีขาว ผู้ชายแถบคาบสมุทรมลายูใส่โสร่ง ผู้หญิงอาหรับใส่ชุดยาวสีดำ บางคนปิดหน้าเห็นเพียงดวงตา ผู้หญิงในอัฟกันไม่เพียงปิดหน้าแต่ยังมีผ้าตาข่ายปิดดวงตาด้วย ผู้หญิงในไทยอาจใส่ชุดปกติแต่มีผ้าฮิญาบ เหล่านี้ล้วนเป็นการปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของตนเองภายใต้หลักการที่ศาสนากำหนด
ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า ทำไมผู้หญิงมุสลิมถึงต้องคลุมฮิญาบ
ในทางภาษา ฮิญาบ แปลว่า การปกปิด หรือ การปิดกั้น แต่หากเราลองทำความรู้จักฮิญาบ กันดีๆ แล้วจะเห็นได้ว่าฮิญาบในอิสลามจะมีความหมายมากกว่านั้น เพราะฮิญาบไม่ได้เป็นเพียงแค่ผ้าผืนหนึ่งที่ใช้ปกปิดหรือปกคลุมเส้นผม และก็ไม่หมายถึงการปิดกั้นหรือกดขี่ผู้หญิงมุสลิม แต่ฮิญาบในความหมายที่แท้จริงคือการแสดงออกถึงความยำเกรงของบุคคลนั้นๆ ต่อคำสั่งใช้ของพระเจ้า และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่บ่งบอกตัวตนความเป็นมุสลิมของตัวเอง
พระองค์อัลลอฮได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับเรื่องฮิญาบไว้ว่า :
โอ้นบีเอ๋ย จงกล่าวแก่บรรดาภริยาของเจ้า และบุตรสาวของเจ้า และบรรดาหญิงของบรรดาผู้ศรัทธา ให้พวกนางดึงเสื้อคลุมของพวกนางลงมาปิดตัวของพวกนาง นั่นเป็นการเหมาะสมกว่าที่นางจะเป็นที่รู้จัก เพื่อที่พวกนางจะไม่ถูกรบกวน และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้อภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ
อัล-อะหฺซาบ : 59
ในฐานะที่เป็นมุสลิมผู้ศรัทธา เราเชื่อว่าในคำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้าย่อมมีผลดีต่อผู้ปฏิบัติตาม สิ่งหนึ่งที่คนคลุมฮิญาบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันและสามารถรู้สึกได้คือความรู้สึกปลอดภัย ปลอดภัย ณ ที่นี้คือปลอดภัยจากสายตาและอันตรายจากความคิดไม่ดีที่จะเกิดขึ้นจากเพศตรงข้าม และเมื่อมาพิจารณาดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากประเพณีและวัฒนธรรมของไทยในการให้ผู้หญิงรู้จักการรักนวลสงวนตัว คำสอนและการสั่งใช้ของอิสลามในเรื่องของการคลุมฮิญาบก็เช่นกัน
เวลาไหนบ้างที่มุสลิมต้องคลุมฮิญาบ ?
หากอธิบายด้วยข้อความที่กะทัดรัดและเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือต้องคลุมฮิญาบในช่วงเวลาที่ต้องพบเจอกับผู้ชายที่เราสามารถแต่งงานด้วยได้(ตามทัศนะของอิสลาม) ในกรณีที่อยู่ในสถานที่มิดชิดและมีแต่เพศเดียวกันหรือคนต่างเพศแต่ไม่สามารถแต่งงานด้วยได้(ตามทัศนะของอิสลาม) ก็ไม่จำเป็นต้องคลุมฮิญาบ
รูปแบบของการคลุมฮิญาบ
การคลุมฮิญาบที่ศาสนากำหนดก็คือ ปิดคลุมทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นหรือเห็นได้เฉพาะใบหน้าและฝ่ามือ นั่นหมายถึงต้องคลุมเท้าด้วย โดยผ้าต้องยาวคลุมหน้าอก สีสันและลวดลายควรมีความสุภาพและไม่เป็นที่ดึงดูดสายตา ซึ่งรูปแบบของการคลุมฮิญาบนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่และวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล โดยที่เราเห็นกันบ่อยๆ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
จะเห็นได้ว่าผู้หญิงมุสลิมนั้นสามารถนำหลักปฏิบัติในศาสนามาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตและยุคสมัยของตนเองได้ ภายใต้แก่นที่อิสลามกำหนด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้ผู้หญิงมุสลิมในที่ต่างๆ ทั่วโลกยังคงยึดมั่นในหลักการคลุมฮิญาบไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม
ปัจจุบันประชากรมุสลิมเพิ่มสูงขึ้น ประมาณการว่าทั่วโลกมีชาวมุสลิม 1,800 ล้านคน หากในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง นั่นเท่ากับว่าโลกนี้มีคนที่ต้องใส่ผ้าคลุมฮิญาบถึง 900 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งหากมองในเชิงเศรษฐกิจนี่อาจเป็นโอกาสและช่องทางของผู้ประกอบการด้านเครื่องแต่งกาย
Modanisa เว็บไซต์จำหน่ายเสื้อมุสลิมถือกำเนิดในตุรกี ปัจจุบันเว็บไซต์แห่งนี้มีผู้เข้าชมมากถึง 100 ล้านคนต่อปี มีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาจับจ่ายจาก 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลกอย่าง H&M, UNIQLO รวมถึง NIKE ต่างก็ออกคอลเลคชั่นเจาะตลาดผู้หญิงมุสลิมเช่นกัน
ในประเทศไทยถึงแม้จำนวนประชากรมุสลิมจะมีไม่มาก แต่ตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมก็คึกคักไม่แพ้ใคร สังเกตได้ตามงานการกุศลต่างๆ ของชาวมุสลิมที่ต้องมีร้านเสื้อผ้าแทบทุกงาน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เกิดใหม่มากมายที่ควรค่าแก่การผลักดันสู่ตลาดโลกที่มีลูกค้ารอจับจ่ายหลายร้อยล้านคน ไม่แน่ว่าแบรนด์เครื่องแต่งกายมุสลิมของผู้ประกอบการหน้าใหม่เหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตขึ้นก็เป็นได้
หากเพื่อนต่างศาสนิกสนใจอยากเห็นอยากจับหรืออยากลองสวมใส่ฮิญาบดูบ้าง อยากให้ลองแวะไปตามงานมัสยิดใกล้บ้านหรือร้านเสื้อผ้ามุสลิมใกล้มัสยิด หรืออาจลองแวะมาดูสถานที่ต่างๆ ดังนี้
ซ.มัสยิดมหานาค มัสยิดมหานาคตั้งอยู่ริมคลองมหานาค คนละฝั่งคลองกับโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ แถวนี้เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่มีธุรกิจมุสลิมมุสลิมหลายประเภท มาที่นี่นอกจากจะได้ฮิญาบแล้ว ยังอาจะได้อิ่มท้องกับอาหารอิสลามอร่อยๆ อีกด้วย
ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ ซ.รามคำแหง 2 ระหว่างแยกรามคำแหงตัดพระรามเก้า กับ แยกคลองตัน ที่นี่แนะนำให้มาวันศุกร์ จะมีร่านเสื้อผ้ามุสลิมเปิดขายหลายร้าน นอกจากนี้ยังมีอาหารอิสลามอร่อยๆ ให้ลิ้มลองเช่นกัน
ถ.ราษฎร์อุทิศ (คู้ขวา) ตลอดทางของถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านเสื้อผ้ามุสลิม ตั่งแต่ต้นทางมีนบุรียาวไปจนถึงหนองจอก นอกจากนี้ตลอดทางยังมีร้านอาหาร มัสยิด และชุมชนมุสลิมตลอดเส้นทางเช่นกัน
ฮิญาบผืนแรก
ถึงแม้การคลุมฮิญาบจะเป็นข้อบังทางศาสนา แต่การตัดสินใจคลุมฮิญาบของผู้หญิงมุสลิมบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในยุคสมัยที่กระแสหวาดกลัวอิสลามเติบโตในทุกสังคม ผู้หญิงที่คลุมฮิญาบจึงเป็นดั่งเป้าที่เห็นเด่นชัดที่สุดในสายตาของคนที่หวาดกลัว เรื่องราวการตัดสินใจคลุมฮิญาบของพวกเธอจึงเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การชื่นชมและเรียนรู้ สามาราถอ่านเรื่องราวการตัดสินใจคลุมฮิญาบของผู้หญิงมุสลิมได้ในคอลัมน์ Hijab 1st Time
www.halallifemag.com
จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์0000011716 คน